|
ในปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหดตัวอย่างรุนแรง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทั้งในประเทศและตลาดส่งออกซบเซาอย่างรุนแรง โดยในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศไทยหลายราย หยุดการผลิตชั่วคราว จึงทำให้ในปี 2563 ประเทศไทยมียอดผลิตรถยนต์เพียง 1.43 ล้านคัน ลดลงมากถึง 29 % แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 0.79 ล้านคัน ลดลง 21% และยอดส่งออก 0.73 ล้านคัน ลดลง 30% จากปี 2562
|
ผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทไทยรุ่งฯ ในปี 2563 นั้น มีรายได้จากการขายและบริการ 1,530 ล้านบาท ลดลง 36% เนื่องจากปริมาณงานชิ้นส่วนและแม่พิมพ์ที่ลดลงตามภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์อันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด 19 และการยกเลิกธุรกิจในไทยของบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย (GM) ในขณะที่ต้นทุนคงที่บางส่วนของบริษัทไม่สามารถลดได้มากเท่ากับยอดขายที่ลดลง จึงส่งผลบริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุน
สำหรับปี 2564 นั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะเริ่มฟื้นตัวขึ้น และขยายตัว 5% จากปี 2563 โดยตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์รวม 1.5 ล้านคัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็ว ปรับพื้นฐานให้แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนวโน้มยานยนต์สมัยใหม่ คือ ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์อัตโนมัติ ตลอดจนการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีนโยบาย ดังนี้
• ขยายตลาดรถยนต์ตรวจการณ์ TR Transformer ซึ่งได้รับ
“รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2560” จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้ขึ้นทะเบียนเป็น
“สินค้านวัตกรรมไทย” โดยมุ่งเน้นการขายรถให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยมีจุดเด่นด้านการออกแบบตัวถังที่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป และสามารถติดตั้งอุปกรณ์พิเศษ หรือดัดแปลงให้สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการของลูกค้า เช่น รถบรรเทาสาธารณะภัย, รถที่ใช้ในการเก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD), รถยนต์บรรทุกสุนัขทหาร (K9), รถบังคับการควบคุม DRONE, รถติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายทอดสด TV, รถพยาบาลฉุกเฉินภาคสนาม, รถควบคุมระบบสื่อสาร เป็นต้น
• ขยายตลาดรถมินิบัส เพื่อรองรับการเปลี่ยนรถตู้โดยสารประจำทาง เป็นรถมินิบัสตามนโยบายของภาครัฐ และในอนาคตจะขยายตลาดไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น
• ขยายโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องไปยัง
ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รถยนต์แห่งอนาคต อาทิ ผลิตชิ้นส่วนตัวถัง โดยใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา เช่น เหล็ก High Tensile, อลูมิเนียม หรือ คอมโพสิต, ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกที่เป็นอุปกรณ์ตกแต่งภายใน (Trim parts), ผลิตเบาะรถยนต์, รับจ้างประกอบรถยนต์ไฟฟ้า, ออกแบบ และผลิตรถมินิบัสไฟฟ้า
• ขยายการผลิตตัวถังรถบรรทุกประเภทต่าง ๆ เช่น รถโม่ผสมคอนกรีต กระบะบรรทุกดัมพ์ และกระบะบรรทุกพ่วงดัมพ์ ตู้บรรทุกปีกนก ตู้บรรทุก 10 ประตู และตู้บรรทุกน้ำหนักเบา เป็นต้น
• กระจายความเสี่ยงไปยังฐาน
ลูกค้านอกกลุ่มยานยนต์ (Non-Auto) เช่น รถขุดตัก รถเครื่องจักรก่อสร้าง รถเครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นต้น
• เน้นการควบคุมต้นทุนและลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ พัฒนาความรู้และทักษะของพนักงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการบริหารงานภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี และให้ความใส่ใจต่อการดูแลรักษาสังคม ชุมชน คู่ค้า พนักงาน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตามหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility) ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เพื่อนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน เพื่อให้ผู้ถือหุ้น มั่นใจได้ว่าบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส ตามหลักคุณธรรม จริยธรรม และบนหลักการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ดังจะเห็นได้รางวัล และผลประเมินต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับ เช่น
• รางวัล
ประกาศเกียรติคุณจรรยาบรรณธุรกิจดีเด่น จากหอการค้าไทย
• ได้รับการรับรองฐานะสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต จากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ
• ได้รับผลประเมินการกำกับดูแลกิจการ ในระดับ
“ดีมาก” จากสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
ในนามของคณะกรรมการบริษัทฯ ดิฉันขอขอบคุณลูกค้า ผู้ถือหุ้น หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน และพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนผู้บริหารและพนักงานทุกท่าน ที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ในการสนับสนุนให้กิจการของบริษัทประสบความสำเร็จด้วยดีมาโดยตลอด ดิฉันและคณะกรรมการบริษัททุกท่านจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะนำพาบริษัทฯ ให้ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และร่วมกันขยายธุรกิจให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป